สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา ๑๕๗  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

 

คำพิพากษาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5673/2562 โจทก์ถูกฟ้องเป็นจำเลย เรื่อง ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง วินิจฉัยว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 157 และเป็นเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งในหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ย่อมมีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญาดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 โดยอ้างเหตุแห่งการกระทำความผิดที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำวินิจฉัยไว้แล้วว่ารับฟังไม่ได้ และไม่ปรากฏว่าคำพิพากษาดังกล่าวได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรือยกเสีย ถ้าหากมีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 18 วรรคสอง เหตุแห่งการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ตามข้อกล่าวอ้างของโจทก์ในคดีนี้ย่อมเป็นอันรับฟังไม่ได้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3079/2562 ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 มีอายุความสิบห้าปี ความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 และความผิดตาม ป.อ. มาตรา 177 วรรคแรก มีอายุความสิบปี โจทก์จึงต้องฟ้องและได้ตัวจำเลยผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดอายุความดังกล่าว นับตั้งแต่วันกระทำผิด มิฉะนั้นคดีโจทก์ย่อมขาดอายุความ

โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 จำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 กระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม 2541 ถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2541 โจทก์ต้องฟ้องและได้ตัวจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 มาศาลอย่างช้าที่สุดภายในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2556 กับฟ้องและได้ตัวจำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 มาศาลอย่างช้าภายในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2551 ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 177 วรรคแรก โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 6 ที่ 8 ที่ 11 และที่ 12 ว่ากระทำความผิดในวันที่ 21 มิถุนายน 2549 จำเลยที่ 7 และที่ 10 กระทำความผิดในวันที่ 22 มิถุนายน 2549 จำเลยที่ 1 กระทำความผิดในวันที่ 28 กรกฎาคม 2549 โจทก์ต้องฟ้องและได้ตัวจำเลยที่ 6 ที่ 8 ที่ 11 และที่ 12 มาศาลภายในวันที่ 21 มิถุนายน 2559 ฟ้องและได้ตัวจำเลยที่ 7 และที่ 10 มาศาลภายในวันที่ 22 มิถุนายน 2559 กับฟ้องและได้ตัวจำเลยที่ 1 มาศาลภายในวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2550 ซึ่งแม้จะยังอยู่ภายในกำหนดอายุความสิบห้าปีและสิบปีก็ตาม แต่เมื่อคดีโจทก์ยังอยู่ระหว่างการไต่สวนมูลฟ้อง กรณีจึงไม่อาจถือว่าได้ตัวจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 และที่ 10 ถึงที่ 12 มาอยู่ในอำนาจของศาลแล้ว เนื่องจากตราบใดที่ศาลยังไม่ประทับฟ้อง ป.วิ.อ. มาตรา 165 วรรคสาม มิให้ถือว่าจำเลยอยู่ในฐานะเช่นนั้น อันเป็นเหตุให้อายุความไม่หยุดนับ เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องคดีนี้เสร็จสิ้นในวันที่ 13 มีนาคม 2560 จึงเป็นระยะเวลาที่ล่วงเลยอายุความสิบห้าปีและสิบปีแล้ว คดีโจทก์สำหรับจำเลยแต่ละคนจึงขาดอายุความ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2445/2562 การกระทำที่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 นอกจากเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่โดยตรงในการปฏิบัติหน้าที่นั้นแล้ว ต้องมีเจตนาในการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด พยานหลักฐานของโจทก์ฟังได้แต่เพียงว่า จำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ผู้เป็นรองนายกเทศมนตรีเทศบาลจำเลยที่ 1 ร่วมกันอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างและปรับปรุงถนนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์โดยไม่ได้ตรวจสอบ เพราะเชื่อคำรับรองของ ป. ผู้ใหญ่บ้านว่าถนนดังกล่าวเป็นทางสาธารณะแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 รู้อยู่แล้วว่าถนนที่จะก่อสร้างปรับปรุงนั้นรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบว่าแนวถนนที่จะก่อสร้างปรับปรุงรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ใดหรือไม่ อันเป็นการกระทำโดยมิชอบตามกฎหมาย เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิด ซึ่งจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดต่อโจทก์ในทางแพ่งเท่านั้น ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 มีเจตนาพิเศษ ขาดองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 จึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม ป.อ. มาตรา 157 เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ไม่เป็นความผิดตาม มาตรา 157 ดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 8 และที่ 9 ซึ่งมิใช่เจ้าพนักงานที่ร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ย่อมไม่เป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนผู้เป็นเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม ป.อ. มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2330/2562 โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ว่า จำเลยทั้งสี่เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ ได้ร่วมกันจัดทำเอกสารและกรอกข้อความลงในเช็คสั่งจ่ายเงินให้แก่ ร. โดยไม่ได้ตั้งฎีกาเบิกเงินงบประมาณรายจ่าย ไม่ขีดฆ่าคำว่าหรือผู้ถือและไม่ได้ขีดคร่อมเช็ค ทั้งไม่ส่งมอบเช็คแก่ ร. ผู้มีสิทธิรับเงินตามเช็ค อันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แล้วร่วมกันนำเช็คไปเรียกเก็บเงินและเบียดบังเงินนั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริตอันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต โดยโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องระบุว่า จำเลยทั้งสี่กระทำไปโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของความผิด มาตรา 157 การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8973/2561 การกระทำอันจะเป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 นั้น ต้องเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยเจ้าพนักงานผู้กระทำมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดด้วย เมื่อไม่ปรากฏว่าการใช้ดุลพินิจของจำเลยทั้งยี่สิบสี่เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งยี่สิบสี่ย่อมไม่เป็นความผิดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว โจทก์มิได้บรรยายฟ้องด้วยว่า จำเลยทั้งยี่สิบสี่กระทำการตามคำฟ้องโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ อย่างไร คำฟ้องโจทก์ในข้อนี้จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6114/2560 ศาลาทรงไทยกลางน้ำสร้างจากงบประมาณของเทศบาลตำบล ป. แม้ไม่มีเลขทะเบียนครุภัณฑ์หรือเป็นพัสดุที่ไม่มีทะเบียนคุม การดำเนินการใดๆ กับศาลาทรงไทยดังกล่าวต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2535 ที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะว่าเป็นอำนาจสั่งการของจำเลยที่ 1 ในฐานะนายกเทศมนตรีตำบล ป. ผู้เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น การตรวจสอบและจำหน่ายพัสดุของจำเลยที่ 1 ภายใต้ระเบียบกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติราชการในฐานะเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ตาม ป.อ. จำเลยที่ 1 จำหน่ายศาลาทรงไทยกลางน้ำของเทศบาลให้แก่เอกชนในลักษณะที่ฝ่าฝืนต่อระเบียบดังกล่าว อีกทั้งไม่นำเงินที่ขายได้ส่งเป็นรายได้เทศบาลในทันที จนกระทั่งถูกเจ้าหน้าที่เทศบาลทักท้วง ทวงถาม และถูกตรวจสอบโดยกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจำจังหวัด จึงให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเลขานุการนำเงินมาคืนในภายหลัง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147 และมาตรา 151 ซึ่งเป็นบทเฉพาะของบททั่วไปตามมาตรา 157 ย่อมไม่จำต้องปรับบทความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6905/2559 การที่โจทก์จะได้รับการอนุญาตหรือไม่ต้องเป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอนุญาตตามมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2543 แต่การที่จำเลยหน่วงเหนี่ยวไม่ปิดประกาศแบบ ท.ด.25 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการเปิดเผยต่อสาธารณะให้ทราบทั่วกัน โดยเฉพาะราษฎรในพื้นที่ให้ทราบว่ามีผู้ขอใช้ทางสาธารณประโยชน์ หากราษฎรผู้ใดมีส่วนได้เสีย ก็สามารถคัดค้านหรือแสดงความคิดเห็นได้นั้น ย่อมเป็นเหตุให้นายอำเภอทับคล้อไม่สามารถรายงานความเห็นเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร เพื่อพิจารณาตามคำขออนุญาตของโจทก์ได้ตามขั้นตอนและตามกำหนดเวลา ก่อให้เกิดความเสียหายต่อโจทก์ผู้ยื่นคำขอที่ต้องได้รับผลกระทบต่อการดำเนินกิจการในความล่าช้าอันเกิดจากการกระทำของจำเลยที่จงใจขัดขวางการขออนุญาตใช้ทางสาธารณประโยชน์เพื่อสร้างบ่อเก็บกากแร่แห่งที่ 2 ให้เกิดอุปสรรคและความล่าช้าในการดำเนินการ โจทก์เป็นผู้ซึ่งได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำของจำเลย จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งการกระทำของจำเลยที่จงใจเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายอำเภอ เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม ป.อ. มาตรา 157